focus

สรุปไทม์ไลน์ราชวงศ์โชซอน ผ่านซีรีส์เกาหลีย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ที่แนะนำให้ไปดู (Part 1/2)

03/09/2021 - Kawowsageuk

joseon drama pt 1 thumbnail final

ใครเป็นสายอินซีรีส์ย้อนยุคบ้าง!? แบบถ้าดูซีรีส์เรื่องหนึ่งแล้วพระเอกเป็นองค์ชายที่มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์ พอซีรีส์จบก็อยากรู้ชีวิตพระเอกคนนั้นต่อ เลยต้องขุดประวัติ หาซีรีส์เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องมาดูเพิ่มเพื่อเติมเต็มชีวิตพระเอกคนนั้นให้สมบูรณ์ขึ้น ถ้าเป็นสายอินซีรีส์เกาหลีย้อนยุคที่คุ้นชื่อยุคโชซอนแบบนี้แล้วล่ะก็ ต้องบอกเลยว่า “คุณเปิดถูกบทความแล้ว” บทความนี้จะพาคุณมาดำดิ่งไปกับประวัติศาสตร์ของพระราชา องค์หญิง องค์ชาย และสนมในยุคโชซอน ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันจนมีเรื่องราวให้นำมาผูกเป็นปมเป็นซีรีส์ได้อีกหลายเรื่อง วันนี้เราจะขอนำทางทุกท่านเข้าสู่เกาหลียุคเก่า มาติดตามสรุปเรื่องราวราชวงศ์โชซอน พร้อมแนะนำซีรีส์ให้ไปหาดูเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มกัน (อ่านยาวหน่อย แต่บอกเลยว่าเพลินแน่นอน มาเดินทางไปโชซอนกัน ~)

อ่านต่อพาร์ท 2 ได้ที่นี่

เริ่ม !

ราชวงศ์โชซอน (조선) ปกครองคาบสมุทรเกาหลีมานานกว่า 5 ศตวรรษ (1392–1897) โดยผู้ก่อตั้งโชซอน คือ อีซองกเย แม่ทัพตระกูลอี ขุนศึกยุคโครยอ ที่ทำรัฐประหารตั้งตนขึ้นเป็น พระเจ้าแทโจ พระราชาองค์แรกแห่งราชวงศ์โชซอน ก่อนย้ายเมืองหลวงมาที่ฮันยาง (โซล เกาหลีใต้ปัจจุบัน) ซึ่งในระหว่างนั้นโชซอนยังคงอยู่ในอาณัติของจีนใต้การปกครองของราชวงศ์หมิงอยู่

จนกระทั่งในปี 1897 ฝ่ายจีนพ่ายแพ้ญี่ปุ่นในสงครามอาณานิคมยุคใหม่ (ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1) ฝ่ายญี่ปุ่นจึงพยายามเข้ามายึดโชซอนต่อ ทำให้โชซอนต้องปรับตัวให้มีอารยะขึ้นเพื่อหลีกหนีจากวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการยกระดับเป็น จักรวรรดิเกาหลี แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ในท้ายที่สุดก็โดนญี่ปุ่นกลืนกิน รวบเกาหลีเป็นมณฑลหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ตั้งแต่ปี 1910 จนถึงปี 1945 (สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) เกาหลีเข้าสู่ยุคถูกปกครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น และเกิดการแบ่งประเทศ กลายเป็น เกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ อย่างในปัจจุบัน

korea map

ย้อนกลับมาพูดถึงพระราชาองค์แรกแห่งราชวงศ์โชซอนกันหน่อย การเริ่มต้นของโชซอนในการปกครองของ ราชวงศ์อี เกิดขึ้นด้วยฝีมือต่อสู้ของ แม่ทัพอีซองกเย แต่แม่ทัพอีก็ยังมีขุนศึกรุ่นพี่ที่ตัวเองนับถืออีกคนชื่อ แม่ทัพชเวยอง ผู้ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพที่ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมือง (ยุคโครยอ) เป็นที่สุด ดังนั้นเมื่อแม่ทัพอีต้องรวบรวมอำนาจขึ้นเป็น พระเจ้าแทโจ (1392–1398) พระราชาองค์ใหม่แห่งคาบสมุทรเกาหลี หนึ่งในสิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ การประหารแม่ทัพชเวยอง ซีรีส์ที่กล่าวถึงช่วงการก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ ปมรักปมแค้นแต่ราชวงศ์เก่า และการตามหาที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ คือเรื่อง The Great Seer (SBS, 2012–2013)

The Great Seer
The Great Seer (2012–2013)

ยังมีอีกหนึ่งขุนนางผู้เป็นกุนซือร่วมก่อตั้งโชซอน ขุนนางคนนี้มีชื่อว่า จองโดจอน เขาคืออัครมหาเสนาบดี หัวหลักสำคัญในรัชกาลที่ 1 ผู้สิ้นชีวิตลงในรัชกาลที่ 2 ซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับเขา อาทิ Jeong DoJeon (KBS1, 2014), Six Flying Dragons (SBS, 2015–2016) และ My Country: The New Age (tvN, 2019) -> อ่านรีวิวได้ที่นี่

การประหาร จองโดจอน เกิดจากการแย่งชิงอำนาจภายในราชวงศ์ เมื่อพระเจ้าแทโจโปรดปราน อีบังซอก ลูกชายที่มีอายุน้อยที่สุดจากพระมเหสีคนที่ 2 ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นหลังพระมเหสีคนแรกสิ้นพระชนม์ การที่พระเจ้าแทโจต้องการให้อีบังซอกขึ้นเป็นรัชทายาทตอกปมแค้นให้ อีบังวอน บุตรในพระมเหสีคนแรก จนเกิดเป็นการก่อรัฐประหาร ฆ่าพี่น้องในพระมเหสีคนที่ 2 และขุนนางที่สนับสนุนราชวงศ์อื่นเพื่อชิงบัลลังก์คืนมา ในตอนแรกอีบังวอนให้ อีบังกวา หรือ พระเจ้าจองจง (1398–1400) ขึ้นมาเป็นพระราชาองค์ที่ 2 แต่สุดท้ายหลังเกมการเมืองอันดุเดือด พระเจ้าจองจงก็สละราชสมบัติและให้ อีบังวอน ขึ้นมาครองราชย์แทน ซึ่งปมเหล่านี้ก็ปรากฏใน My Country: The New Age ด้วยเช่นกัน

Jeong DoJeon / Six Flying Dragons / My Country: The New Age
Jeong DoJeon (2014) / Six Flying Dragons (2015–2016) / My Country: The New Age (2019)

มาถึงตรงนี้ อีกชื่อที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ อีบังวอน หรือ พระเจ้าแทจง พระราชาองค์ที่ 3 แห่งโชซอน (1400–1418) ผู้สร้างปมเคืองข้องใจในประวัติศาสตร์ด้วยการฆ่าพี่น้องและขุนนางมากมายเพื่อชิงบัลลังก์ขึ้นมาเป็นพระราชา แต่ด้วยความสามารถในฐานะผู้ร่วมรบสร้างชาติเคียงข้างพ่อมาตลอด พระเจ้าแทจงจึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกนำมาเสริมเติมสร้างในซีรีส์ซากึกบ่อย ๆ อย่างซีรีส์ 4 เรื่องข้างบนก็มีพูดถึงพระองค์ด้วยเช่นกัน

พระเจ้าแทจงมักมาคู่กับลูกชายของตัวเอง อีโด หรือ พระเจ้าเซจงมหาราช พระราชาองค์ที่ 4 แห่งโชซอน (1418–1450) ผู้สร้างตัวอักษรเกาหลี (ฮันกึล) ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน โดยซีรีส์ที่เล่าถึงการสร้างอักษรฮันกึลพร้อมปมการเมืองสุดเข้มข้นก็คือเรื่อง Tree With Deep Roots (SBS, 2011) ซึ่งเป็นซีรีส์ในชุดเดียวกันกับ Six Flying Dragons ที่มีตัวละครเชื่อมโยงกัน เขียนบทจากทีมเดียวกัน แต่เนื้อหาไม่ได้ต่อเนื่องกัน สามารถดูแยกกันได้

Tree With Deep Roots
Tree With Deep Roots (2011)
พระเจ้าเซจง The Great King Sejong Jang Youngsil: The Greatest Scientist of Joseon
พระเจ้าเซจง (รับบทโดยนักแสดงคนเดียวทั้งสองเรื่อง) 
The Great King Sejong (2008) / Jang Youngsil: The Greatest Scientist of Joseon (2016)

มาถึงยุคของ พระเจ้าเซจง ยุคนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองของศาสตร์ศิลป์ต่าง ๆ มี ชิบฮย็อนจอน  (집현전) สำนักศึกษาปราชญ์ขงจื๊อสถาบันสั่งสอนความรู้และแลกเปลี่ยนวิทยาการที่จะคัดเลือกผู้มีความสามารถเหมาะสมเข้ามาศึกษาโดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ (จริง ๆ ก็แบ่ง แต่พระเจ้าเซจงก็สนับสนุนผู้มีความสามารถด้วยเช่นกัน) และในสถานที่นี้ก็ได้ให้กำเนิดขุนนางมากความสามารถขึ้นมา เขาคือ จางยองชิล ชาวนาชนชั้นล่างที่มีแม่เป็นกิแซงหลวงจึงได้เข้ามาศึกษาในสำนักนี้ แต่ด้วยความเก่งที่โดดเด่นจึงทำให้เขาเติบโตในหน้าที่การงาน และยังเป็นผู้ประดิษฐ์ “มาตรวัดน้ำฝน” ซึ่งเป็นวิทยาการที่ล้ำมากในยุคนั้น

เรื่องราวของ พระเจ้าเซจง และ จางยองชิล มีปรากฏในซีรีส์เรื่อง The Great King Sejong (KBS, 2008) แต่ถ้าใครชอบซากึกแนวโรแมนติกก็ขอแนะนำ Splash Splash LOVE (MBC, 2015) มินิซีรีส์ที่เล่าเกี่ยวกับเด็กเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยผู้หมดหวังในชีวิต เดินผ่านมิติสายฝนไปโผล่ในยุคของอีโด จนกลายเป็นผู้ช่วยอีโดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ พร้อมเรียนรู้เรื่องหัวใจไปพร้อมกัน ส่วนถ้าเป็นซีรีส์ที่เจาะเฉพาะการสู้ชีวิตของจางยองชิล จากชนชั้นล่างสู่นักปราญ์คู่ใจพระเจ้าเซจง ก็ต้องเรื่องนี้เลย Jang Youngsil: The Greatest Scientist of Joseon (KBS, 2016)

Splash Splash LOVE / Jang Youngsil: The Greatest Scientist of Joseon
Splash Splash LOVE (2015) / Jang Youngsil: The Greatest Scientist of Joseon (2016)

ต่อมาคือ พระราชาองค์ที่ 5 พระเจ้ามุนจง (1450–1452) ผู้ครองราชย์ต่อจากพ่อ (พระเจ้าเซจง) ได้แค่ 2 ปีก็จากไปด้วยโรคภัย ถือเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนาง ที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์ต่อไปต่างกันและต้องการผลักดันให้ฝ่ายตนขึ้นเป็นพระราชาให้ได้ ทำให้ องค์ชายซูยาง (ลูกพระเจ้าเซจง) ก่อรัฐประหารปลด พระเจ้าทันจง พระราชาองค์ที่ 6 (1452–1455) ผู้เป็นหลานออกจากบัลลังก์ และตั้งตนก็ขึ้นเป็น พระเจ้าเซโจ พระราชาที่องค์ 7 (1455–1468) แห่งโชซอนแทน

The Princess’ Man / Queen Insoo
The Princess’ Man (2011) / Queen Insoo (2011–2012)

เรื่องราวการขึ้นครองบัลลังก์ของ องค์ชายซูยาง นี้มีกล่าวถึงในซีรีส์เรื่อง The Princess’ Man (KBS2, 2011) ที่เปรียบเสมือน Romeo and Juliet ฉบับเกาหลี เมื่อนางเอกเป็นลูกขององค์ชายซูยางที่ไม่เห็นด้วยกับพ่อ แถมยังรักกับพระเอกซึ่งอยู่ฝ่ายพระเจ้าทันจง จนเกิดเป็นความรักต้องห้ามที่ยากจะสมหวังขึ้น

ในปีเดียวกันนี้ยังมีเรื่อง Queen Insoo (JTBC, 2011–2012) ปล่อยออกมาด้วย เป็นซีรีส์ชิงไหวชิงพริบกลเกมการเมืองในช่วงสี่รัชกาล (ตั้งแต่พระราชาองค์ที่ 7–10) ที่มี พระพันปีอินซู แม่ของ พระเจ้าซองจง พระราชาองค์ที่ 9 เป็นผู้เล่าเรื่องหลักเกี่ยวกับวังวนการต่อสู้เพื่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของราชวงศ์โชซอน

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ที่กล่าว พระราชาองค์ที่ 8 พระเจ้าเยจง (1468–1469) อีก กับเรื่อง The King’s Affection (KBS2, 2021) ที่มีกำหนดฉายปลายปีนี้ ในเรื่องจะเล่าถึงลูกของพระเจ้าเยจง อีฮวี พระราชาผู้ถูกลืมและไม่ปรากฏในส่วนไหนของหน้าประวัติศาสตร์เลยแม้แต่น้อย โดยพระองค์ได้ปิดบังความลับอันใหญ่หลวงที่บอกใครไม่ได้ นั่นคือความจริงแล้วพระองค์เป็นสตรีที่กำลังครองบัลลังก์

The King s Affection Poster
The King’s Affection (KBS2, 2021) ซีรีส์ที่อ้างอิงจากหนังสือการ์ตูนในชื่อเดียวกัน ออนแอร์ 11 ต.ค.นี้ ทางช่อง KBS

ต่อมาในสมัยของ พระเจ้าซองจง พระราชาองค์ที่ 9 (1469–1494) ผู้เป็นหลานของ พระเจ้าเซโจ ก็ปรากฏเป็นตัวละครหลักในซีรีส์ชื่อดัง The King and I (SBS, 2007–2008) ที่มีนางเอกคือ พระนางเจฮอน ตระกูลยุน พระมเหสีที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกพระราชทานยาพิษให้ พระองค์เป็นแม่ของ องค์ชายยอนซัน (ยอนซันกุน) พระราชาองค์ที่ 10 ผู้เป็นพระราชาแต่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นเพียงองค์ชาย เพราะเป็นพระราชาที่อื้อฉาวที่สุดในราชวงศ์โชซอน ทำผิดธรรมเนียม เปิดอ่านพงศาวดารโชซอน อ่านแล้วก็โกรธ สั่งฆ่าล้างบางขุนนางทั้งราชวงศ์เพื่อแก้แค้นให้แม่ ไม่สนใจปกครองบ้านเมือง เสพสุขอยู่กับนางบำเรอมากมาย โดยกิแซงข้างกายของยอนซันกุนที่มีชื่อในประวัติศาสตร์มาก ๆ มีชื่อว่า จางนกซู (สนมซุกยง ตระกูลจาง)

The King and I
The King and I (2007–2008)

ซีรีส์แทบทุกเรื่องที่มีบทของ ยอนซันกุน ก็มักมีบทของ จางนกซู ผู้นี้เคียงข้างเสมอ อย่างเรื่อง The Rebel (MBC, 2017) ก็มีจางนกซูเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งในเรื่อง และมี ฮงกิลดง เป็นพระเอกต่อสู้กับทรราชยอนซัน นอกจากนี้จางนกซูยังมีซีรีส์ในชื่อตัวเองด้วย เรื่อง Jang Nok Soo (KBS2, 1995) รับบทโดย พัคชียอง (ผู้ที่รับบท ‘มเหสียู’ แม่ของพระเอก ‘วังโซ’ ในเรื่อง Moon Lovers

จางนกซู Jang Nok Soo / The Rebel
จางนกซู จาก Jang Nok Soo (1995) / The Rebel (2017) / The Rebel (2017)

สุดท้ายความอื้อฉาวก็ถูกยุติลงด้วยกลุ่มขุนนางที่ร่วมมือกันปลดยอนซันกุนลง ไม่จารึกชื่อเป็นพระราชาให้ และให้ พระเจ้าจุงจง พระราชาองค์ที่ 11 (1506–1544) ขึ้นครองราชย์ต่อ ซึ่งก็มีซีรีส์เกี่ยวกับเรื่องราวความรักของสองราชาและการช่วงชิงบัลลังก์โชซอนระหว่างยอนซันกุนและพระเจ้าจุงจงด้วยเช่นกัน ในเรื่อง Queen for Seven Days (KBS2, 2017)

ก้าวมาสู่ซีรีส์ซากึกระดับตำนานที่ทำให้วงการบันเทิงเกาหลีไปโด่งดังในสากลกันกับ Jewel in the Palace (MBC, 2003–2004) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง เราอาจไม่ทันสังเกต แต่พระราชาผู้นั่งเสวยอาหารของแดจังกึมแทบทุกตอน แล้วก็เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ จนเมื่อแดจังกึมได้ขึ้นมาเป็นหมอหญิงก็เข้ามารักษาให้ ก็คือ พระเจ้าจุงจง คนเดียวกันนี้นี่แหละ

และยังมีซีรีส์อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องยุคนี้ อาทิ Hwang Jini (KBS, 2006) การเล่าเรื่องของ มยองวอล กิแซงชื่อดังในยุคพระเจ้าจุงจง ที่ต้องเจ็บปวดกับระบบชนชั้นของโชซอน และ Saimdang, Light’s Diary (SBS, 2017) ชินซาอิมดัง สตรียุคโชซอนผู้เป็นต้นแบบของแม่และภรรยาที่ดีแห่งเกาหลี โดยเธอมีชีวิตอยู่จริงในยุคพระเจ้าจุงจง อีกทั้งเธอยังได้รับเกียรติมีรูปอยู่บนธนบัตรเกาหลีใต้ฉบับ 50,000 วอนด้วย

Queen for Seven Days / Jewel in the Palace / Hwang Jini /
Queen for Seven Days (2017) / Jewel in the Palace (2003–2004) / Hwang Jini (2006) / Saimdang, Light’s Diary (2017)

ต่อมาคือ พระเจ้าอินจง พระราชาองค์ที่ 12 (1544–1545) และ พระเจ้ามยองจง พระราชาองค์ที่ 13 (1545–1567) บทบาทของทั้งสองพระองค์ก็ปรากฏเป็นปมผูกเรื่องราวใน The Fugitive of Joseon (KBS2, 2013) ซีรีส์ที่ตัวละครวิ่งหนีโทษตายตลอดทั้งเรื่อง พระเอกเป็นหมอหลวงถูกคดีเกี่ยวกับพระราชาต้องลี้หนีภัยไปพร้อมกับลูกสาว

รวมทั้งเรื่อง Mirror of the Witch / Secret Healer (JTBC, 2016) ที่นำความเชื่อทางไสยศาสตร์กับการสืบทอดตำแหน่งพระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง บอกเล่าอาถรรพ์ที่เกิดขึ้นในวันที่นางเอกผู้เป็นลูกของพระเจ้ามยองจง ลืมตาขึ้นมาดูโลก (พระเอกคือ ฮอจุน หมอหลวงประจำรัชสมัยพระเจ้าซอนโจในตอนที่ยังไม่ได้เป็นหมอหลวง) และเรื่อง Flowers of the Prison (MBC, 2016) เรื่องราวของ อ๊กนยอ นางเอกผู้ผดุงความยุติธรรม มีปมในอดีตจากการเติบโตขึ้นมาในคุก แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นสายลับในราชสำนักหลวงที่มีหน้าที่ตามสืบคดีเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยบทพระราชาในเรื่องคือ พระเจ้ามยองจงที่บังเอิญเข้ามาเกี่ยวพันกับนางเอกตลอดทั้งเรื่อง 

The Fugitive of Joseon / Mirror of the Witch / Flower of the Prison
The Fugitive of Joseon (2013) / Mirror of the Witch (2016) / Flower of the Prison (2016)

ในยุคเดียวกันนี้ยังมีกิแซงอีกคนที่มีอิทธิพลมากในโชซอน เธอมีชื่อว่า จองนานจอง คนสนิท พระพันปีมุนจอง ตระกูลยุน แม่ของ พระเจ้ามยองจง โดยจองนานจองเป็นภรรยาของ ยุนวอนฮยอง ที่มีศักดิ์เป็นน้องชายของพระพันปีมุนจอง จองนานจองมีบทบาทมากในการช่วยให้ตระกูลยุนเป็นใหญ่ในโชซอน ซีรีส์ที่จองนานจองเป็นนางเอกคือ Ladies of the Palace (SBS, 2001–2002) ที่ดำเนินตั้งแต่ยุคพระเจ้าจุงจงจนถึงพระเจ้ามยองจง

และพระเจ้ามยองจงยังมีบทปรากฏในซีรีส์เรื่อง Joseon Survival (TV Chosun, 2019) เรื่องราวของหนุ่มนักยิงธนูทีมชาติที่ชีวิตตกต่ำและอิรุงตุงนังถึงขั้นย้อนกลับไปยังยุคโชซอนในสมัยพระเจ้ามยองจง และได้ไปเจอกับ อิมก๊อกจอง คนฆ่าสัตว์ชนชั้นต่ำที่ถูกดูแคลนยิ่งกว่าทาส แต่ก็เป็นผู้มีความสามารถและเป็นผู้นำกลุ่มโจรคุณธรรม

Ladies of the Palace / Joseon Survival
Ladies of the Palace (2001–2002) / Joseon Survival (2019)

ในช่วง พระเจ้าจุงจง, พระเจ้าอินจง และ พระเจ้ามยองจง เป็นช่วงที่ขุนนางขับเคลื่อนโชซอนมากขึ้นเรื่อย ๆ และพระพันปีก็ขึ้นมามีบทบาทว่าราชการหลังม่านแทนพระราชาวัยเยาว์ จนมาถึงยุค พระราชาโชซอนองค์ที่ 14 พระเจ้าซอนโจ (1567–1608) ขุนนางยิ่งแบ่งฝ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีแค่ฝ่ายในเมืองและนอกเมือง ก็มีแบ่งเป็นฝ่ายตะวันตก ตะวันออก เหนือ และใต้ อีกทั้งภายหลังยังมีแบ่งเป็นฝ่ายเหนือใหญ่ ฝ่ายเหนือเล็กอีกด้วย

ยุคนี้เป็นยุคที่มีสงครามต่างถิ่นใหญ่โต จึงมีซีรีส์หลายเรื่องที่มักเกี่ยวกับวีรบุรุษสงคราม อาทิ The Jingbirok: A Memoir of Imjin War (KBS1, 2015) ซีรีส์โปรเจ็กต์พิเศษครบรอบ 70 ปี วันฉลองอิสรภาพชาวเกาหลี ถ่ายทอดเรื่องราวจากบันทึกจิงบีรกของอัครเสนาบดีโชซอน รยูซองรยง ในช่วงสงครามอิมจิน สงคราม 7 ปีที่ญี่ปุ่นรุกรานเกาหลี และ Immortal Admiral Yi Sun-shin (KBS1, 2004–2005) เรื่องราวขุนนางแม่ทัพคนสำคัญแห่งยุคพระเจ้าซอนโจ อีซุนชิน ผู้นำทัพเรือเข้าต่อสู้การรุกรานจากต่างประเทศ (อนุสาวรีย์พลเรือเอกอีซุนชิน ตั้งอยู่ที่จัตุรัสควางฮวามุน) 

The Jingbirok: A Memoir of Imjin War / Immortal Admiral Yi Sun-shin
The Jingbirok: A Memoir of Imjin War (2015) / Immortal Admiral Yi Sun-shin (2004–2005)

ยุคพระเจ้าซอนโจนี้ นอกจากปัญหาแบ่งฝ่ายขุนนางแล้ว ยังมีปัญหาการรุกรานจากญี่ปุ่น (สงครามอิมจิน การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น ในปี 1592–1598) ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบุกมาถึงเมืองหลวง จนพระเจ้าซอนโจต้องรีบแต่งตั้งรัชทายาทขึ้นเป็นการเร่งด่วนแล้วตนก็หนีออกจากเมืองไป องค์ชายควังแฮ (ควังแฮกุน) จึงได้ขึ้นเป็นรัชทายาท และเป็นผู้นำเข้าสู้ปกป้องโชซอนจากญี่ปุ่นจนผ่านพ้นวิกฤติ ทำให้เป็นที่ยอมรับจากขุนนางและประชาชน ก่อนขึ้นครองราชย์เป็น พระราชาองค์ที่ 15 (1608–1623) ในเวลาต่อมา

แม้ผ่านพ้นวิกฤตจากต่างชาติไปแล้ว แต่ก็ไม่วายเจอการเล่นพรรคเล่นพวกของขุนนางในวัง เมื่อขุนนางฝ่ายหนึ่งหันไปสนับสนุน องค์ชายยองชัง ให้ขึ้นครองราชย์แทน องค์ชายควังแฮ เนื่องจากมีความชอบธรรมกว่าด้วยฐานะเป็นลูกของมเหสี ส่วนควังแฮกุนเป็นแค่ลูกสนม ใด ๆ ก็ตามแต่ ด้วยกลการเมืองต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นว่า ควังแฮกุนเป็นคนฆ่าองค์ชายยองชัง และเนรเทศ พระนางอินม๊ก แม่ขององค์ชายยองชังซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแม่ของแผ่นดินไป ความไม่ชอบธรรมไล่แม่ฆ่าน้องชายนี้ เป็นจุดให้ควังแฮกุนไม่ได้มีชื่อจารึกชื่อเป็นพระราชา แต่เป็นเพียงองค์ชายเช่นเดียวกับองค์ชายยอนซัน (ยอนซันกุน)

เรื่องราวในช่วงรอยต่อของ พระเจ้าซอนโจ และ ควังแฮกุน มีซีรีส์หลายเรื่องมาก ๆ อย่างเช่น Jung Yi, The Goddess of Fire (MBC, 2013) เรื่องราวของนางเอกผู้เป็นช่างปั้นเซรามิกคนแรกของโชซอน ซึ่งเข้ามาพัวพันวงการเมือง ส่วนบทพระเอกคือ ควังแฮกุน (รับบทโดย อีซังยุน)

Jung Yi, The Goddess of Fire
Jung Yi, The Goddess of Fire (2013)

ด้วยตัว ควังแฮกุน เองก็มีคุณูปการต่อประเทศมาก เช่น การช่วยประชาชนทั้งโชซอนให้รอดพ้นจากสงครามอิมจิน แต่กลับไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชา จุดนี้จึงเป็นปมให้ผู้เขียนบทได้นำมาตีความเป็นบทละครซากึกหลายแบบ จนมีซีรีส์ที่มีควังแฮกุนเป็นละครหลักมากมาย อาทิ

  • King’s Face (KBS2, 2014–2015) เรื่องราวของพระเอกผู้มีใบหน้าของพระราชาตามศาสตร์ทำนาย แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อผู้เป็นพระราชาที่กังวลว่าลูกจะหักล้างตน ลูกที่ว่านี้ก็คือ องค์ชายควังแฮ ส่วนบทนางเอกก็อิงบุคคลจริงคือ คิมซังกุง (คิมแกชี)
  • The King’s Woman (SBS, 2003–2004) ที่เล่าเรื่องของ คิมแกชี หญิงสาวผู้เป็นของสองราชา พระเจ้าซอนโจและควังแฮกุน
  • Hwajung / Splendid Politics (MBC, 2015) เรื่องราวขององค์หญิงผู้อาภัพ ต้องหนีภัยการเมืองในวังไปผจญโลกภายนอกตั้งแต่เด็ก ในภายหลังจึงตั้งใจจะกลับมาเพื่อแก้แค้นพระราชาผู้พี่ซึ่งพรากทุกอย่างไปจากตน พระราชาผู้พี่คนนี้คือ ควังแฮกุน ส่วนนางเอกเองก็ได้กลับมาพร้อมพบว่า คนที่ตนแค้นนักแค้นหนากลับเป็นพระราชาที่ดีของโชซอน 
  • West Palace (KBS2, 1995) เรื่องราวในยุคควังแฮกุน กับความขัดแย้งในวังหลังของคิมแกชีและพระนางอินม๊ก ที่ส่งผลสะเทือนไปทั้งวังหลวง
  • Hong Gil Dong (KBS, 2008) ซีรีส์แนวโจรผดุงคุณธรรม ที่ถูกแต่งขึ้นโดยอ้างอิงจากเวลาในยุคนี้ เนื่องจากมีบทพระรองเป็นลูกของพระนางอินม๊ก แต่เป็นแนวแฟนตาซีแอ็กชันมากกว่าประวัติศาสตร์
  • Bossam: Steal the Fate (MBN, 2021) ในยุคที่หญิงม่ายไม่สามารถแต่งงานใหม่ได้และต้องอยู่อย่างอดสู การถูกลักตัวไปกลางดึกเพื่อแต่งงานกับชายอีกคน (เรียกว่า โพซัม) เป็นอีกหนึ่งวิธีในการออกไปใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อพระเอกได้รับจ้างให้ไปลักหญิงม่ายมาโพซัม แต่ดันไปลักผิดคน จนนำไปสู่วังวนการแก้แค้นปมในอดีตและการเอาตัวรอดจากมรสุมทางการเมือง เพราะนางเอกเป็นลูกสาวของควังแฮกุน
  • The Tale of Nokdu (KBS, 2019) เรื่องราวของพระเอก นกดู ที่อาศัยอยู่บนเกาะกับพ่อและพี่ชาย แต่พ่อกลับไม่ยอมให้นกดูเรียนหนังสือหรือออกไปเปิดโลกกว้างที่ไหนเลย จนวันหนึ่งครอบครัวถูกโจรไล่ฆ่า นกดูเลยออกไล่ล่าโจรจนไปถึงหมู่บ้านแม่ม่าย จนเขาต้องปลอมเป็นหญิงสาวเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อตามหาปมคดีไล่ล่านี้ซึ่งดันเกี่ยวพันไปถึงวังหลวงอีก ในเรื่องนี้ก็มีตัวละครฝั่งวังหลวงครบยุคควังแฮกุนเลย
King's Face / Hwajung / Bossam: Steal the Fate / The Tale of Nokdu
ควังแฮกุน จาก King’s Face (2014–2015) / Hwajung (2015) / Bossam: Steal the Fate (2021) / The Tale of Nokdu (2019)

ในสมัย พระเจ้าซอนโจ และ ควังแฮกุน ยังมีหมอหลวงคนสำคัญอยู่อีกคนหนึ่งคือ ฮอจุน หมอหลวงผู้เขียนตำรา ทงอีโบกัม (동의보감) ตำราการแพทย์แผนตะวันออกของเกาหลีที่ใช้อ้างอิงการศึกษามาจนปัจจุบัน มีซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับหมอคนนี้หลายเรื่อง เช่น Mirror of the Witch / Secret Healer (JTBC, 2016), The Legendary Doctor Heo Jun (MBC,1999–2000), Hur Jun, the Original Story (MBC, 2013) เป็นเรื่องหมอฮอจุน อีกเวอร์ชันหนึ่ง และ Live Up to Your Name (tvN, 2017) ซึ่งเป็นซีรีส์ปัจจุบันที่พระเอกเป็นหมอยุคโชซอน ข้ามภพจากอดีตมาปัจจุบัน ในพาร์ทอดีตมีหมอฮอจุนเป็นตัวละครที่สำคัญต่อเส้นเรื่อง 

Mirror of the Witch / The Legendary Doctor Heo Jun / Hur Jun, the Original Story / Live Up to Your Name
บน: Mirror of the Witch (2016) / The Legendary Doctor Heo Jun (1999–2000)
ล่าง: Hur Jun, the Original Story (2013) / Live Up to Your Name (2017)

การเมืองย่อมต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ ในที่สุด ควังแฮกุน ก็โดนรัฐประหาร ทำให้ องค์ชายนึงยาง ขึ้นเป็น พระเจ้าอินโจ พระราชองค์ที่ 16 (1623–1649) แทน ส่วนองค์ชายควังแฮถูกเนรเทศให้ไปอยู่เกาะควังฮวา ยุคพระเจ้าอินโจเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากการเมืองนอกประเทศ ที่เดิมโชซอนเป็นเมืองในอาณัติของจีนใต้การปกครองของราชวงศ์หมิง (ต้าหมิง) มาแต่สมัยก่อตั้งราชวงศ์ มาถึงในยุคพระเจ้าอินโจนี้ ฝั่งจีนมีการต่อสู้ชิงแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่าง ราชวงศ์หมิง กับ ราชวงศ์ชิง (ต้าชิง/แมนจู) จนส่งผลกระทบมายังโชซอน จากเดิมที่เคยอยู่กับต้าหมิง ก็ต้องเลือกว่าจะไปต่อกับต้าหมิงหรือเปลี่ยนไปขึ้นกับต้าชิง 

ในยุคควังแฮกุนนั้น โชซอนตั้งตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ฝั่งจีน แต่พอมายุคพระเจ้าอินโจ ขุนนางในโชซอนก็แบ่งฝ่ายเลือกข้าง (อีกแล้ว) เพื่อสนับสนุนจีนแต่ละฝ่าย หลังจากต้าหมิงพ่ายแพ้ไป ทางต้าชิงก็ส่งทัพมารุกรานโชซอนเพื่อตกลงหยุดสงครามและให้โชซอนยอมเป็นเมืองขึ้นแต่โดยดี แต่ทางโชซอนดูเหมือนจะยังหนุนต้าหมิงอยู่ (ในตอนตั้งราชวงศ์ โชซอนยอมรับอำนาจของต้าหมิงเอง) ฝั่งต้าชิงจึงส่งทัพมาตีอีกครั้ง จนพระเจ้าอินโจต้องหนีขึ้นเหนือปราชัยพ่ายแพ้ศึกครั้งนี้ไป สุดท้ายโชซอนก็ต้องทำพิธีคำนับ ยอมรับจักรพรรดิต้าชิง (ราชวงศ์ชิง) เหตุการณ์ที่พระเจ้าอินโจคำนับ 5 ครั้งและโขกศีรษะกับพื้น 3 ครั้ง เพื่อแสดงการสวามิภักดิ์ต่อต้าชิง เป็นเรื่องราวอันน่าอัปยศในสมัยพระเจ้าอินโจที่ถูกกล่าวขานเล่ามาในหน้าประวัติศาสต์โชซอน จนฉากโขกหัวนี้มีปรากฏในหลายเรื่องเลยทีเดียว

Blooded Palace: The War of Flowers
Blooded Palace: The War of Flowers (2013)

นอกจากนี้ยังซีรีส์อีกหลายเรื่องที่ดำเนินอยู่ในช่วงพระเจ้าอินโจและช่วงใกล้เคียง ทั้งที่กล่าวถึงโดยตรงและเพียงอ้างอิงยุคนี้เท่านั้น อาทิ

  • Blooded Palace:The War of Flowers (JTBC, 2013) เรื่องราวเล่าถึงศึกวังหลังยุคพระเจ้าอินโจ เมื่อสนมโซยงต้องการให้ลูกชายของตัวเองขึ้นเป็นพระราชาแทนองค์รัชทายาท แต่เมื่อบัลลังก์มีเจ้าของอยู่แล้ว แล้วกับดักใดที่จะทำให้ผู้ครองบัลลังก์เปลี่ยนไป และสุดท้ายใครจะเป็นผู้ชนะ
  • Iljimae (SBS, 2008) พระเอกเป็นโจรคุณธรรม ปล้นขุนนางเพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้าน ก่อนทิ้งกิ่งเหมยไว้แทนตัวทุกครั้ง โดยตัวพระเอกก็มีปมอดีตที่เกี่ยวพันกับพระเจ้าอินโจ
  • Strongest Chil Woo (KBS2, 2008) พระเอกมีฉากหน้าเป็นมือปราบเล็ก ๆ ในสำนักตุลาการหลวง แต่ฉากหลังกลับใส่หน้ากากเป็นนักฆ่าเพื่อแก้แค้นให้ครอบครัว จนสุดท้ายไปพัวพันกับการตายของรัชทายาทโซฮยอน แห่งยุคพระเจ้าอินโจ
  • The Return of Iljimae (MBC, 2009) พระเอกไปเติบโตที่เมืองจีนและกลับมาตามหาอดีตที่โชซอน จนกลายเป็นฮีโร่เพราะเข้ามาสะสางความวุ่นวายในเมืองหลวง ในเรื่องมีตัวละคร คิมจาจอม ที่เป็นขุนนางในยุคควังแฮกุนและพระเจ้าอินโจ (เนื้อเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับ Iljimae (2008) และไม่ไช่รีเมก แต่ทั้งสองเรื่องมีประเด็นลิขสิทธิ์งานต้นฉบับ)  
Iljimae / Strongest Chil Woo / The Return of Iljimae
Iljimae (2008) / Strongest Chil Woo (2008) / The Return of Iljimae (2009)

เนื่องจากพ่ายแพ้ต่อราชวงศ์ชิง พระเจ้าอินโจ จึงต้องลูกชายไปเป็นองค์ประกันที่จีน ก็คือ องค์ชายรัชทายาทโซฮยอน พระองค์ได้ชื่อว่ามีความสามารถมาก มีความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรฝั่งจีน และยังรู้จักมักคุ้นกับมิชชันนารีฝรั่ง-เยอรมัน เป็นคนหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง แต่เมื่อกลับมาโชซอนได้ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ด้วยเหตุปริศนา โดยมีคนสันนิษฐานว่าพระองค์ถูกวางยาพิษ

เรื่องราวขององค์ชายรัชทายาทโซฮยอนมีเอ่ยถึงในซีรีส์ที่อ้างอิงยุคพระเจ้าอินโจหลายเรื่อง ทั้งที่เอ่ยเป็นปมในเรื่อง เช่นในซีรีส์ The Slave Hunters (KBS2, 2010) และที่มีองค์ชายโซฮยอนปรากฏเป็นตัวละครเลยอย่าง Tamra, the Island (MBC, 2009) ตัวเรื่องหลักมาดำเนินบนเกาะทัมรา (เกาะเชจูในปัจจุบัน) นางเอกเป็นนักดำน้ำหญิงประจำเกาะที่เรียกว่า แฮ-นยอ มาเจอกับฝรั่งหัวทองเรือแตกติดเกาะ ผู้มีมิตรสหายเป็นคนญี่ปุ่น เกิดเป็นปัญหาแปลก ๆ ที่นางเอกต้องเก็บเป็นความลับ กับบัณฑิตโชซอนที่เหมือนถูกเนรเทศมาอยู่เกาะแต่แท้จริงมีภารกิจลับจากพระราชา รวมถึง The Three Musketeers (tvN, 2014) เรื่องราวที่มีองค์ชายโซฮยอนเป็นตัวเอก จับมือร่วมทีมกับสหายองครักษ์ช่วยกันสะสางคดีในเมืองหลวง

The Slave Hunters / Tamra, the Island
The Slave Hunters (2010) / Tamra, the Island (2009)
The Three Musketeers
The Three Musketeers (2014)

ซีรีส์ในช่วงพระเจ้าอินโจมักต่อเนื่องยาวจนถึงช่วง พระเจ้าฮโยจง พระราชาองค์ที่ 17 (1649–1659) เพราะพระเจ้าฮโยจง ก่อนขึ้นครองราชย์มีตำแหน่งเป็น องค์ชายพงริม หรือก็คือเป็นลูกพระเจ้าอินโจอีกคนหนึ่ง แล้วก็เป็นน้องชายของรัชทายาทโซฮยอน ซึ่งก็เคยไปเป็นองค์ประกันที่จีนมาเหมือนกันนั่นเอง

ต่อมาในยุค พระเจ้าฮยอนจง พระราชาองค์ที่ 18 (1659–1674) ขุนนางแบ่งฝ่ายเช่นเดิม ฝ่ายที่เป็นใหญ่มี 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายตะวันตกและฝ่ายใต้ ซีรีส์ที่อิงเรื่องราวในยุคนี้มีเรื่อง The Horse Doctor (MBC, 2012–2013) แม้ปมในเรื่องจะเกี่ยวกับการเมืองของราชวงศ์โชซอน แต่เรื่องราวหลักอยู่ที่พระเอกและนางเอกที่เป็นสามัญชน ที่ครอบครัวของทั้งสองพัวพันกันทั้งเรื่องรัก เรื่องงาน และเรื่องการเมือง

The Horse Doctor
The Horse Doctor (MBC, 2012–2013)

แม้ว่าโชซอนจะตกเป็นเมืองในอาณัติของราชวงศ์ชิงแล้ว แต่การเมืองภายในโชซอนแทบไม่เปลี่ยนไปเลย ยังคงเป็นศึกระหว่างขุนนางที่แบ่งฝ่ายแย่งชิงอำนาจกันแบบสุด ๆ ยิ่งยุคพระราชาองค์ถัดไปยิ่งเข้มข้นขึ้น เพราะศึกนี้พระราชาจะไม่ยอมเป็นเพียงหมากในมือขุนนางแล้ว แต่จะขึ้นมาเป็นคนเข้ามาคุมเกมเอง เป็นศึกที่คอซีรีส์เกาหลีย้อนยุคหลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี กับ ยุคพระเจ้าซุกจง ที่มีตัวละครสำคัญอย่าง จางอ๊กจง และ ทงอี นั่นเอง แต่คงต้องขอเก็บไว้เป็นตอนต่อไปก่อน บอกเลยว่าเข้มข้นมาก ๆ พระราชายุคหลังจากนี้ดราม่าหนักจริง ๆ ติดตามต่อในพาร์ท 2 กันได้เลย~


บทความที่น่าสนใจ

มัดรวมซีรีส์เกาหลีย้อนยุค ครึ่งปีแรก 2021 พร้อมเปิดไลน์อัปครึ่งปีหลัง

รู้จัก Lady Justice สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม ประติมากรรมประจำซีรีส์ Law School

ย้ายประเทศกันเถอะ Minari : บันเทิงเกาหลี “หยั่งราก” ยังไงในอเมริกา

ซังกุง คืออะไร? เปิดเรื่องราวของ ‘ซังกุง’ ในประวัติศาสตร์ยุคโชซอนผ่านซีรีส์เกาหลี


ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage
 : facebook.com/korseries
Twitter
 : twitter.com/korseries
Website
 : korseries.com
Youtube 
: Korseries

ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡


Korupdate






เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อการตลาด

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก