k-dramas

รีวิวซีรีส์ Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน (2022) | เมื่อผู้พิพากษาเผชิญหน้า ‘คดีอาชญากรรมเด็ก’

06/03/2022 - moomamonn

juvenile justice tn 1

ในช่วงนี้ ซีรีส์เกาหลีแนวกฎหมายกลับมามีประเด็น และโผล่ขึ้นมาบนหน้าไทม์ไลน์โซเชียลอีกครั้ง หลังซีรีส์ Juvenile Justice หรือชื่อไทย ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ ได้ออกฉายผ่านทาง Netflix จำนวนทั้งสิ้น 10 ตอน เนื้อหาซีรีส์เล่นประเด็นเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่เกิน 14 ปี และยังไม่บรรลุนิติภาวะ แม้ต้นเรื่องจะพูดถึงเด็ก แต่ประเด็นที่ซีรีส์สื่อสารออกมากลับเข้มข้น ไม่ได้มาเล่น ๆ ทั้งตัวบทละครและนักแสดงที่เรียกได้ว่า ‘จัดจ้าน’ จนอยากให้ฉายมากกว่า 10 ตอนหรือมีภาคต่อกันเลยทีเดียว!

Juvenile Justice Netflix Poster TH 03022022

ก่อนอื่นพูดถึงเรื่องย่อของซีรีส์เรื่องนี้กันก่อน Juvenile Justice เป็นซีรีส์กฎหมาย ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้พิพากษาอาวุโส ชิมอึนซอก (รับบทโดย คิมฮเยซู) ผู้พิพากษาระดับหัวกะทิ ที่มีบุคลิกเย็นชาและไม่ค่อยเป็นมิตร ตั้งแต่มาถึงเธอก็ได้ประกาศตัวเลยว่า ตัวเองนั้นมีความเกลียดชังกับเยาวชนที่กระทำความผิดเป็นอย่างมาก โดยชิมอึนซอกได้รับหน้าที่ให้มาเป็นผู้พิพากษาสมทบคนใหม่ประจำศาลคดีเยาวชนในเขตยอนฮวา ซึ่งเป็นเขตปกครองที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมเด็กและเยาวชนสูงที่สุดเขตหนึ่ง

การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ทำให้ ชิมอึนซอก ต้องมาร่วมงานกับผู้พิพากษาสมทบ ชาแทจู (รับบทโดย คิมมูยอล) ผู้พิพากษาแผนกคดีอาญาเยาวชนที่แตกต่างกับเธออย่างสุดขั้ว ชาแทจูมีนิสัยใจดี มักแสดงท่าทีเป็นห่วงเด็ก ๆ อยู่เสมอ เพราะเขาเชื่อว่าเด็กทุกคนที่เคยทำผิดสามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้ ซึ่งพวกเขาทั้ง 2 คนก็ต้องมารับมือกับคดีที่เกี่ยวกับเยาวชน ที่มีตั้งแต่คดีทั่วไป จนถึงคดีร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย นอกจากนี้ยังร่วมด้วยผู้พิพากษาอาวุโสอีก 2 คน อย่าง คังวอนจุน (รับบทโดย อีซองมิน) ผู้พิพากษาอาวุโสในแผนกคดีอาญาเยาวชนศาลแขวงยอนฮวา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและกำลังถูกทาบทามให้เข้าไปเล่นการเมือง และ นากึนฮี (รับบทโดย อีจองอึน) หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดีเยาวชน ที่ไม่ค่อยถูกกับชิมอึนซอกสักเท่าไหร่

juvenile justice review 3

ขึ้นชื่อว่าเป็นซีรีส์กฎหมายของเกาหลี ก็รับประกันความถึงพริกถึงขิงได้แม้จะยังไม่ได้ดู ในครั้งนี้ก็ได้เล่าถึงประเด็น Juvenile ที่แปลว่า “เด็ก” และ “เยาวชน” สื่อความหมายตรงตัวถึงคอนเซ็ปต์เรื่องนี้โดยตรง เพราะในความยาวซีรีส์ 10 ตอน เรื่องราวอาชญากรรมในเด็กได้ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้มข้นและน่าหดหู่ เล่นประเด็นตั้งแต่ปัญหาภายในครอบครัว, การศึกษา, ความรุนแรงทางเพศ และ ปัญหาของระบบกฎหมายและศาลที่อาจทำให้เยาวชนทำผิดได้ซ้ำ ๆ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง

เหนือชั้นขึ้นไปอีกด้วยการแสดงที่เชือดเฉือนอารมณ์กันไปมาระหว่าง คิมฮเยซู ที่เคยฝากผลงานในฐานะนักแสดงนำไว้ในซีรีส์เรื่อง Hyena (2020) และ Signal (2016) ร่วมด้วยกับ คิมมูยอล เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่องราวสุดพีคในพีค อย่าง Forgotten (2017) และหนึ่งในนักแสดงเรื่อง Grid (2022) ที่เพิ่งปล่อยออกมาให้ได้รับชมกันสด ๆ ร้อน ๆ เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่องราวสุดพีคในพีค อย่าง Forgotten (2017)

ด้วยทักษะการแสดงที่ล้นเหลือทำให้ทั้งสองคนนำคาร์แรกเตอร์ตัวละครที่ต่างกันสุดขั้ว ออกมาเป็นคู่หูที่แสนเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ คนหนึ่งร้อนแรง มีไฟยุติธรรมที่พร้อมจะปะทุอยู่ตลอดเวลา ส่วนอีกคนก็ใจเย็น เหมือนน้ำที่พร้อมเปิดใจรับฟังเด็ก ๆ นำทางเขาไปสู่ทางออกที่ดี ไม่เพียงแค่นั้น แต่ต้องขออวยยศนักแสดงทุกคน ตั้งแต่ทีมผู้พิพากษายันเยาวชนแต่ละตอนเลยว่า แสดงออกมาได้เข้าถึงอารมณ์มาก ๆ ทีมเยาวชน แม้จะอายุยังน้อย แต่บอกได้คำเดียวเลยว่าพวกเขาเหล่านี้ เล็กพริกขี้หนูอย่างแท้จริง!

juvenile justice review 4
juvenile justice review 2

*เนื้อหาต่อไปนี้ มีการกล่าวถึงเนื้อหาในเรื่อง*

ในจำนวน 10 ตอน ซีรีส์ได้บอกเล่าเรื่องราวของ 6 คดีอาชญากรรมเกี่ยวกับเด็ก ที่มีตั้งแต่ความรุนแรงเล็กน้อยหรือความรุนแรงที่ส่งผลต่อคนวงแคบ ไปจนถึงคดีอาชญากรรมและคดีทุจริตที่ใหญ่ระดับประเทศ จะมีคดีไหนบ้างนั้น ก็มาเปิดแฟ้มคดีไปพร้อมกันเลย!

Juvenile Justice 5 1

คดีที่ 1 คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญของเด็กประถมยอนฮวา

จุดเริ่มต้นมาจากการเข้ามอบตัวของคนร้ายวัย 13 ปี ที่สารภาพว่าตนเป็นคนก่อเหตุฆ่าและหั่นศพเด็กอายุเพียง 9 ขวบ ด้วยเหตุว่าตนนั้นป็นโรคจิตเภท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แถมยังแสดงท่าทีที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปีมีพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ คุ้มครองไม่ให้ติดคุกอยู่ จนทำให้ผู้พิพากษาชิมอึนซอกต้องหาหลักฐานมามัดตัวฆาตกรเด็กรายนี้ให้ได้ ตอนนี้ถือว่าเป็นการเปิดตอนแรกที่สมบูรณ์แบบมากๆ เพราะทั้งสนุก มีหักมุมเพราะมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังต้องตามลุ้นการตามสืบคดีว่าสุดท้ายแล้วเด็กรายนี้จะมีบทสรุปอย่างไร

คดีที่ 2 เรื่องราวของคดีความรุนแรงในครอบครัว

คดีนี้บอกเล่าเรื่องราวของเยาวชน ยูรี (รับบทโดย ชิมดัลกี) ที่อยู่ในการดูแลของผู้พิพากษาชาแทจู ยูรีโดนทำร้ายจากคนในครอบครัว ซึ่งเป็นพ่อแท้ ๆ ของเธอเอง แต่ย่ากลับบอกว่าให้ปล่อยเรื่องนี้ไป เพราะคนที่ทำร้ายยูรีคือพ่อของเธอ เรื่องนี้ตอกย้ำประเด็นของความรุนแรงในครอบครัวได้ชัดมากว่า การเมินเฉยเปรียบเสมือนการส่งเสริมความรุนแรงในครอบครัวให้เกิดซ้ำไปซ้ำมา และการทำสิ่งเลวร้ายหรือละเมิดสิทธิของเด็ก หรือแม้แต่คนในครอบครัวซ้ำ ๆ เป็นการสร้างความเจ็บปวดและแผลในใจที่ไม่มีวันจางหายให้แก่เหยื่อ จนมาถึงประเด็นสุดท้ายที่ว่า การที่เด็กเป็นเหยื่อ ที่มีผู้ก่อเหตุคือพ่อ แม่ หรือคนในครอบครัว เหยื่อไม่จำเป็นที่ต้องกัดฟันยอมไปตลอดชีวิต เพราะสุดท้ายแล้วผู้ก่อเหตุอันเลวร้ายนี้สมควรที่จะถูกขังและได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย

juvenile justice review 7

คดีที่ 3 การฟ้องร้องโกงเงินและทารุณกรรมในศูนย์ฟื้นฟูเยาวชน

เรื่องนี้เจาะลึกประเด็นการดูแลของศูนย์เยาวชนที่มีเด็กสาวอาศัยอยู่ร่วมกันถึง 8 คน ซึ่งศูนย์นี้ได้ถูกร้องเรียนว่ามีการโกงเงินอุดหนุนจากศาลและมีการทารุณกรรมเด็กเกิดขึ้น จนทำให้ผู้พิพากษาชิมอึนซอก และผู้พิพากษาชาแทจูต้องเข้าไปตรวจสอบ เป็นอีกตอนที่หักมุมแบบคาดไม่ถึง การเล่าเรื่องมีชั้นเชิง หลอกคนดูได้อย่างสนิทใจ พร้อมทั้งสอดแทรกปัญหาของเด็กแต่ละคนเอาไว้ว่า ทำไมเด็กถึงทำตัวมีปัญหา ปัจจัยหลักคือจากคนในครอบครัว และสิ่งแวดล้อมที่มักหล่อหลอมให้เด็กเหล่านั้นเติบโตมาในสายทางนี้ เพราะเด็กที่มีแผลในใจมักจะทำร้ายตัวเอง แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ถูก แต่พวกเขาก็อยากให้ความทรมานจากการทำร้ายตัวเอง สร้างบาดแผลให้คนในครอบครัวที่เป็นคนสร้างแผลนี้ให้พวกเขาด้วยเหมือนกัน

คดีที่ 4 คดีการทุจริตข้อสอบในโรงเรียนมัธยมปลายมุนกวัง

เป็นคดีใหญ่ที่ขึ้นหน้าหนึ่งในประเทศ และยังเกี่ยวข้องกับหัวหน้าผู้พิพากษา คังวอนจุน เมื่อลูกชายของเขาดันเข้าไปมีเอี่ยวกับชมรมพิเศษ ‘เดการ์ต’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโกงข้อสอบครั้งนี้ คดีนี้เน้นเรื่องราวไปที่ว่า สุดท้ายแล้วความเป็นพ่อคนจะเลือกอะไรระหว่าง ความถูกต้อง หรือ ชื่อเสียงเงินทอง ไปจนถึงประเด็นการศึกษาที่ผู้ปกครองหลายคนมักชอบกดดันให้ลูกของตนเองต้องเรียนดี ต้องดีเด่น ที่พวกเขาคิดไม่ถึงเลยว่าการบังคับขู่เข็ญนี้ อาจนำไปสู่ปลายทางที่ต้องสูญเสียอะไรหลายอย่างก็เป็นได้

juvenile justice review 6

คดีที่ 5 คดีขับรถชนจนเกิดอุบัติเหตุที่ก่อเหตุโดยเยาวชนผู้ไม่มีใบขับขี่

สำหรับตอนนี้ก็วกกลับมาเกี่ยวข้องกับเด็กที่อยู่ในการดูแลของผู้พิพากษาชาแทจูอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นความรุนแรงในรั้วโรงเรียน นำไปสู่การกลั่นแกล้งที่เกินเลย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตเป็นคนในสังคม เป็นอีกครั้งที่เรื่องราวตลบหลังคนดูหักมุมเสียหน้าแทบคว่ำ เด็กที่ทำผิดกลับไม่ได้รับโทษที่ร้ายแรง เพราะมีหัวหน้าผู้พิพากษานากึนฮี เข้ามามีบทบาทในการตัดสินคดี ซึ่งเขาคนนี้ต้องการตัดสินคดีแค่ให้มันจบ ๆ ไป แต่กลับทิ้งบาดแผลให้ผู้ที่สูญเสียอย่างมากมาย

juvenile justice review 5

คดีที่ 6 คดีความรุนแรงทางเพศในยอนฮวา

คดีสุดท้ายนี้เป็นคดีที่นำเสนอความรุนแรงทางเพศที่น่าหดหู่และสลดใจ พร้อมตอกย้ำว่าแม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นเยาวชน แต่ก็ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อีกทั้งยังเป็นตอนที่มีการเฉลยปมในใจของผู้พิพากษาชิมอึนซอกอีกด้วย ว่าทำไมเธอถึงได้รังเกียจเยาวชนที่กระทำผิดเข้าไส้ และยังเป็นตอนที่พูดถึงด้านของการใช้ชีวิตของเหยื่อด้วยว่า เหยื่อไม่ควรที่จะละอายและไม่สมควรที่จะถูกว่ากล่าว เพราะคนที่สมควรอายและควรโดนติเตียนมากที่สุดคือผู้ก่อเหตุ และพวกเขาก็ต้องได้รับโทษที่เหมาะสมอย่างถึงที่สุดเช่นกัน

juvenile justice review 1

สรุปแล้ว เรื่อง Juvenile Justice เป็นซีรีส์แนวกฎหมายที่เล่นประเด็นเยาวชนได้เข้มข้น และครบถ้วน นำเสนอทุกแง่มุมได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งนำเสนอความรุนแรงเยาวชนในเกาหลีได้อย่างหมดเปลือก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการประมวลกฎหมาย ชั้นเชิงการหาข้อมูลหลักฐานมามัดตัวอาชญากรเด็กที่กระทำผิดเพื่อให้มั่นใจว่าการคุมตัวผู้ที่กระทำผิดนั้นถูกคน คนที่กระทำผิดจะต้องได้รับโทษสูงสุด หรือรับโทษตามเห็นสมควรกับสิ่งที่เด็กหลายคนทำผิด

พร้อมทั้งยังทำให้คนดูได้ตกตะกอนความคิดว่า เพราะอะไรทำไมเด็กคน ๆ หนึ่งถึงได้ก่อเหตุที่ร้ายแรงเช่นนี้ เพราะตัวกฎหมายที่มีแต่ช่องโหว่? อย่างพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่ซีรีส์พยายามสื่อสารทุกตอนว่าควรเพิ่มหรือลดโทษหรือไม่ จึงจะเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อม, ครอบครัว, คนรอบข้าง รวมไปถึงภาครัฐก็เป็นส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้ คดีเยาวชนเป็นอีกคดีที่เราไม่ควรละเลย การตัดสินโทษที่รุนแรงไม่ได้หมายความถึงความเกลียดชัง แต่เป็นการสั่งสอนเพื่อให้หลาบจำในกฎหมายและไม่ประพฤติซ้ำอีก เพราะเยาวชนคือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ประเทศนั้นน่าอยู่ และหากประเทศเรามีผู้พิพากษาชิมอึนซอกสัก 1 คนโลกของเยาวชนคงน่าอยู่ขึ้นไปอีกไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage
 : facebook.com/korseries
Twitter
 : twitter.com/korseries
Website
 : korseries.com
Youtube 
: Korseries

ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡






Korupdate






เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อการตลาด

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก