k-dramas

รีวิวซีรีส์ Bossam: Steal the Fate (2021) | วัฒนธรรมลักพาตัวหญิงม่าย การเปลี่ยนโชคชะตาที่นำมาซึ่งความรัก

21/06/2022 - Kawowsageuk

bossam tn 1

“การลักพาตัว องค์หญิงซูคยอง ผิดในครั้งนี้

ราวดั่งโชคชะตานำพาให้ บาอู ได้มาพบกับตำนานรักบทใหม่

Bossam Steal The Fate MBN Main Poster 26032021

Bossam: Steal the Fate โปรเจกต์ฉลองครบรอบ 10 ปีช่อง MBN ซีรีส์ย้อนยุคคลาสสิคที่มีพระราชา องค์หญิง และเรื่องราวของชาวบ้าน ประเด็นที่ใครบางคนเข้าไปเกี่ยวพันกับปมเบื้องหลังในการบ้านการเมือง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้จากครอบครัวจอมปลอมกลายเป็นครอบครัวที่แท้จริง

แม้จะเป็นซีรีส์จากช่องเคเบิ้ลที่อาจจะไม่ได้เป็นกระแสในไทยเท่ากับช่องหลัก แต่ต้องบอกก่อนเลยว่า ตอนจบของซีรีส์เรื่องนี้ส่งท้ายเรตติ้งสูงสุดถึง 9.759% ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ของช่อง MBN เป็นซีรีส์อีกเรื่องที่ Korseries อยากชวนทุก ๆ ท่าน มาร่วมลุ้นไปกับการขโมยโชคชะตาที่กำลังจะเริ่มขึ้น

jung il woo bossam
บาอู (รับบทโดย จองอิลอู)

เรื่องราวถูกเล่าผ่านมุมมองของ บาอู (รับบทโดย จองอิลอู) พระเอกผู้ทำงานรับจ้างทุกอย่างหาเลี้ยงครอบครัว วันดีคืนดีก็รับจ้างแต่งตัวเป็นบัณฑิต ไปร่ายกวีในหอนางโลม สักพักก็จับหญิงม่าย ใส่ถุงแบกวิ่งหนียามเมืองไปรอบหมู่บ้าน ซึ่งงานนี้เองที่เป็นพาร์ทสำคัญของเรื่อง กับการทำ ‘โพซัม (Bossam | 보쌈)’ หรือการลักพาตัวหญิงม่าย นำไปส่งให้กับผู้ชายคนใหม่ ซึ่งงานนี้ในยุคสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นงานที่ไม่ดีนัก เพราะในยุคโชซอนยังมีกฎหมายที่ห้ามหญิงสาวแต่งงานซ้ำอยู่ ทำให้บาอูต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ และปิดบังตัวตนที่แท้จริง

แต่แล้วชีวิตของบาอูก็กลับตาลปัตรเมื่อเขาดันไปโพซัมผิดคน และคนที่ถูกลักพาตัวมาก็ดันเป็นคนสำคัญอย่าง องค์หญิงซูคยอง (รับบทโดย ควอนยูริ) นางเอกที่มีฐานะเป็น ‘องจู’ องค์หญิงยุคโชซอนที่เกิดจากพระราชา องค์ชายควังแฮ และสนม (ส่วนลูกของพระราชากับพระมเหสีจะเรียกว่า ‘กงจู’)

yuri bossam
องค์หญิงซูคยอง (รับบทโดย ควอนยูริ)

การแต่งงานขององค์หญิงซูคยองนั้นเป็นไปตามเกมการเมือง เธอต้องออกจากวังมาแต่งงานกับลูกชายบ้านขุนนางใหญ่ เข้าเป็นสะใภ้ของเสนาบดีอีชอม ซ้ำสามีที่เธอต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ยังมีสถานะเป็นพี่ชายของอดีตคนรักที่เธอรักอีก และเรื่องราวยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก เมื่อในวันอภิเษกสมรส สามีจำเป็นของเธอกลับเสียชีวิตลง จนเธอกลายเป็นหญิงม่ายทันทีที่ออกเรือนและต้องไว้ทุกข์แต่งชุดขาวมายาวนานถึง 3 ปี

ความตลกร้ายอีกอย่างที่เป็นจุดน่ารัก สานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระเอก-นางเอกก็คือ พระเอกเป็นพ่อม่ายลูกติด มีลูกชายน่ารักจอมขี้ทึกทัก พอรับงานโพซัมไปลักพาตัวหญิงม่ายมา แต่ดันเกิดเหตุผิดพลาด หยิบมาผิดฝาผิดตัว ไปลักเอาองค์หญิงเข้าแทน ก็เลยต้องพาเขามาบ้านตัวเองก่อน ลูกชายก็เลยคิดเอาเองว่าพ่อไปลักเมีย เอ้ย! ไปลักแม่มาให้ตนซะงั้น

bossam

แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่นี้ แต่จะมีเรื่องอื่นใดอีกบ้าง ก็ขอให้ทุกคนมาติดตาไปพร้อมกันเลย

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์*

เดินเรื่องด้วยแง่มุมแปลกในสมัยโชซอน

ในซีรีส์ได้ถ่ายทอดให้เห็นสังคมโชซอนที่ยึดหลักขงจื๊อใหม่ ผู้ชายเป็นใหญ่ ครอบครัวก็ฝั่งสามีเป็นใหญ่ หญิงที่แต่งงานจะกลายเป็นสมบัติของบ้านฝั่งชาย หากสามีตาย ภรรยาก็ควรต้องตายตาม แต่ในเมื่อตายไม่ได้ ก็ต้องทนเป็นตราบาป บาปที่ทำให้สามีตาย บาปต่อวงศ์ตระกูล ต้องอยู่อย่างอดสู ยิ่งเป็นชนชั้นสูงยิ่งอับอาย ต้องเก็บตัวไม่ข้องแวะสังคม เพื่อไม่ให้ดูว่าอยู่ดีมีสุขทั้งที่สามีตายไปแล้ว ใครที่มีลูกชายถือว่าได้รับสิทธิ์ให้อยู่ต่อเพื่อเลี้ยงดูแลลูกชายของตระกูลให้ประสบความสำเร็จ แต่หากไม่มีลูกก็ถือเป็นความอับอายยิ่งของตระกูลที่ไม่สามารถทำประโยชน์ใด ๆ ได้เลย

ดังนั้นในสมัยโชซอนจึงมีการทำ โพซัม (보쌈) เป็นการลักหญิงม่ายตอนกลางคืน เพื่อไปส่งให้กับผู้ชายใหม่อีกคน บางบ้านจ้างคนมาโพซัม เพื่อจะได้นำหญิงม่ายออกจากบ้านตนไปไกล ๆ โพซัมเพื่อให้ได้ออกเรือนใหม่ไปกับชายอื่นที่ต้องการอนุภรรยาเพิ่ม หรือเพื่อแต่งงานอีกครั้งกับพ่อม่ายเหมือนกัน ถึงจะดูเป็นวิธีแปลก ๆ แต่ก็เป็นทางออกของสถานการณ์ที่ทำให้หญิงม่ายได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง มุมหนึ่งก็อาจทำให้หญิงม่ายได้ออกจากสถานะอันน่าอดสู และอีกมุมก็เป็นทางตระกูลเอง ที่ไม่ต้องทนมีแม่ม่ายตราบาปอยู่ในบ้านด้วย

Commemorative Pavilion of Jeong Mak Geum
ในซีรีส์ได้มีการพูดถึงการเชิดชูคุณงามความดีของหญิงม่ายที่เลือกปลิดชีพตัวเองตามสามี ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างภาพจริง ของอนุสรณ์ขนาดเล็กที่เป็นประตูสีแดง ภาพจาก http://dh.aks.ac.kr/

ยิ่งสำหรับหญิงชนชั้นสูงการเป็นหญิงม่ายถือเป็นตราบาปหนักมาก จนมีผู้หญิงที่เลือกฆ่าตัวตายตามสามีไป เพื่อเป็นทางออกของความน่าอดสูนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่องกับการตัดสินใจที่กล้าหาญของพวกเธอ หญิงม่ายที่ฆ่าตัวตายจะได้รับการตั้งอนุสรณ์ เป็นศาลเล็ก ๆ ประตูสีแดง เรียกว่า ยอล-รยอ-มุน (열녀문) เพื่อสรรเสริญคุณธรรมของผู้เป็นภรรยาที่ดี เป็นเกียรติต่อวงศ์ตระกูล (อนุสรณ์นี้เป็นการเชิดชูผู้เป็นภรรยาและมารดาที่ดีตามหลักขงจื๊อใหม่ ไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายตามสามีเท่านั้น สรรเสริญได้ทุกการกระทำในแง่การเป็นสตรีที่ดีตามหลักขงจื๊อใหม่) 

และจากการปฎิบัติในรูปแบบแปลก ๆ นี้เอง จึงกลายเป็นที่มาของเรื่อง Bossam: Steal the Fate ที่นำจุดเด่นของการโพซัมนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ตามชื่อเรื่อง

ซีรีส์อิงบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ – นำจุดเด่นด้านการแข่งขันทางการเมืองมาผูกเป็นปมเนื้อเรื่อง

ตัวซีรีส์ดำเนินเรื่องอิงยุคสมัยพระราชาโชซอนองค์ที่ 15 องค์ชายควังแฮ หรือ ควังแฮกุน ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ในบทของนางเอก นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่มีตัวตนจริงและเป็นคนสำคัญของยุคอีก อย่าง คิมแกชี คิมซังกุงผู้ลือชื่อ ผู้อยู่เคียงข้างพระราชาเสมอ​ และ อีอีชอม (이이첨) ขุนนางทหารผู้สนับสนุนหล้กของควังแฮกุน (ในเรื่องอีอีชอมเป็นเสนาบดีซ้าย) และควังแฮกุนในประวัติศาสตร์เองก็มีลูกสาวที่ไม่มีชื่อจริงระบุไว้ ซึ่งเกิดกับ สนมโซอีสกุลยูน ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของนางเอกในเรื่องนี้เอง 

ตามข้อประวัติศาสตร์ในยุคนี้ ว่ากันว่า ควังแฮกุน มีหอกข้างบัลลังก์เป็น องค์ชายยองชัง น้องชายที่เกิดจากพระเจ้าซอนโจและพระนางอินม๊ก ซึ่งมีศักดิ์เป็นมเหสีขแงพระเจ้าซอนโจ พระองค์เป็นน้องชายที่อายุห่างจากควังแฮกุนมาก ๆ จนแทบไม่น่ามีพิษภัย แต่มีสิทธิ์ครองบัลลังก์โดยชอบเพราะเกิดจากมเหสี ด้วยควังแฮกุนมีศักดิ์เป็นเพียงลูกสนม ดังนั้นแม้ว่าควังแฮกุนจะได้ขึ้นเป็นพระราชาแล้ว แต่ก็เหมือนขุนนางหลายฝ่ายจะไม่ยอมรับเพราะมีคนที่มีฐานะเหมาะสมกว่าเกิดมาแล้ว ซึ่งคำว่า ‘ขุนนางหลายฝ่าย‘ นี้ ก็มีหลายฝ่ายจริง ๆ สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นพ่อของควังแฮกุน

Kim Tae Woo Bossam scaled
ควังแฮกุน หรือ องค์ชายควังแฮ (รับบทโดย คิมแทอู)

ตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าซอนโจ พระราชาโชซอนองค์ที่ 14 พ่อของควังแฮกุน ก็มีการแบ่งพรรคอำนาจฝั่งบัณฑิตที่เรียกว่า ซาริม ออกเป็นฝ่ายตะวันตก ซออิน และฝ่ายตะวันออก ทงอิน ต่อมาได้เกิดการแยกออกเป็นฝ่ายใต้ นัมอิน เพื่อคานทวนอำนาจฝ่ายทงอินอีกที และยังมีฝ่ายเหนือ พุกอิน ที่เข้ามามีบทบาทในรัชกาลควังแฮกุนในยุคถัดมา โดยมีแบ่งอีกเป็นฝ่ายเหนือใหญ่ แทบุ๊ก และฝ่ายเหนือเล็ก โซบุ๊ก ซึ่งการพรรคแบ่งฝ่ายนี้ก็ถือว่าเป็นความหนักใจที่สร้างเกมการเมืองที่ดุเดือดให้ยุคสมัยนั้นไม่น้อยเลย

bossam 1
อ้างอิงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Political_factions_in_Joseon_dynasty
Bossam 008
เสนาบดีฝ่ายซ้าย อีอีชอม 

ผู้สนับสนุนฝั่งควังแฮกุนคือ อีอีชอม ผู้นำฝ่ายแทบุ๊ก (ฝ่ายเหนือใหญ่) ส่วนขุนนางที่สนับสนุนฝั่งองค์ชายยองชังคือ ฝ่ายโซบุ๊ก (ฝ่ายเหนือเล็ก) อีอีชอมผู้นี้ เชื่อกันว่าเป็นผู้อยู่ทุกเบื้องหลังในการกำจัดทุกอิทธิพลที่เป็นหอกข้างแคร่ของควังแฮกุน เช่นการกำจัดพระนางอินม๊กและองค์ชายยองชัง 

[หลังจากนี้ในบทความจะใช้คำว่า ‘พระราชาควังแฮ’ เพื่อให้ตรงตามบทบาทในซีรีส์ แต่จริง ๆ พระยศสุดท้ายคือ ‘ควังแฮกุน’ หรือ ‘องค์ชายควังแฮ’ หลังควังแฮกุนถูกรัฐประหาร ถอดยศพระราชา และถูกเนรเทศไปอยู่เกาะคังฮวา]

Bossam 009
Bossam 010

Bossam: Steal the Fate ดำเนินเรื่องในช่วงที่พระราชาควังแฮกักบริเวณพระพันปีอินม๊ก พระมารดาขององค์ชายยองชัง ที่พระราชวังตะวันตก (ซอกุง) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือจับขังไม่ให้พระนางอินม๊กได้ใช้อำนาจได้อย่างอิสระนั่นเอง ซึ่งคำว่า ซอกุง ใช้เรียกสั้น ๆ เป็นคำขานลำลองนัยถึงพระพันปีอินม๊กตรงตามในเรื่อง พระนางอินม๊กเป็นลูกของ คิมแจนัม ชื่อขุนนางอีกคนที่ถูกเอ่ยถึงในเรื่องนี้

ดังนั้น จากจุดสำคัญของยุคสมัยที่แสดงให้เห็นถึงความคลอนแคลนของบัลลังก์พระราชานี้เอง ทำให้นางเอกกลายเป็น ‘หมากบนกระดานการเมืองโชซอน‘ นางเอกต้องแต่งงานกับลูกชายของอีอีชอม กลายเป็นปมดราม่า ที่แอบผูกปมไว้สองชั้น ไม่ใช่แค่ตัวละครนางเอกดราม่าฝ่ายเดียว แต่ยังฝ่ายพระราชาอีกด้วย

Bossam 011
Bossam 012

นอกจากอีอีชอมแล้ว ข้างกายของพระราชาควังแฮยังมีซังกุงคนสนิทอีกคน เป็นซังกุงพิเศษผู้มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า คิมแกชี ในวังหลังโชซอนก็มีคิมซังกุงหรือคิมแกชีคนนี้นี่แหละที่คอยคัดง้างกับพระนางอินม๊กมาโดยตลอด

ว่ากันตามฐานะแล้ว คิมแกชี เป็นภรรยาคนหนึ่งของพระราชาควังแฮ เข้ามาเป็นนางในของพระองค์ตั้งแต่สมัยยังเป็นองค์ชาย แต่เพราะเป็นที่ถูกใจของพระเจ้าซอนโจ พ่อของควังแฮ ได้เป็น ซึงอึนซังกุง หรือนางในถวายตัวในพระเจ้าซอนโจด้วย

Bossam 013

คิมซังกุงมีบทบาทอยู่ข้างกายควังแฮมานาน โดยชื่อ แกชี นั้น ปรากฏในบันทึกของควังแฮกุนเอง แต่ในบันทึกอื่นที่เกี่ยวกับราชวงศ์ ก็มีบันทึกทั้งชื่อ กาฮี, แกฮี และ กาชี แต่ชื่อที่รู้จักและถูกหยิบยกนำมาใช้ในซีรีส์บ่อย ๆ ก็มักจะเป็น แกชี และ กาฮี ซึ่งในซีรีส์ย้อนยุคเกาหลีที่อิงยุคเดียวกันแทบทุกเรื่องจะมีบทของคิมซังกุง และตัวบทล้วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คิมซังกุงผู้นี้ อยู่เคียงข้างและทำได้ทุกอย่างเพื่อพระราชาควังแฮเสมอ 

Bossam 014
Bossam 015
ภาพซ้ายจากซีรีส์ King’s Face (2017) บทพระเอกในเรื่องอิงควังแฮกุน ส่วนนางเอกชื่อ กาฮี มีช่วงหนึ่งเข้ามาเป็นซังกุง เป็นบทอิงคิมซังกุง / ภาพขวา คิมซังกุง จากซีรีส์ Hwajung (2015)

ในเรื่อง Bossam: Steal the Fate เอง พระราชาควังแฮก็ไม่ลงรอยกับอีอีชอมเรื่องภาษีที่ดิน เห็นชัดเจนว่าพระราชาเองก็เกรงและกังวลกับอิทธิพลของอีอีชอม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะเคยร่วมมือกันมาก่อน แถมยังส่งลูกสาวไปเป็นสะใภ้เขาอีก พระราชาจึงรับคำแนะนำจากคิมซังกุงที่พยายามจะดึงขุนนางต่างฝ่ายเข้ามาในวิถีปกครอง เพื่อคานอำนาจอีอีชอม

บทของพระราชาควังแฮในเรื่องนี้ นับว่าตีความได้แปลก แหวกกว่าตัวละครควังแฮกุนในซีรีส์เรื่องอื่นที่ผ่านมา เนื่องจากบทควังแฮกุนในซีรีส์เรื่องอื่นมักเป็นบทพระราชาที่ดี แต่เรื่องนี้เป็นพระราชาที่ …ใช้ลูกสาวเป็นหมากทางการเมือง 

Bossam 016
ควังแฮกุน จากซีรีส์ Hwajung (2015) / ภาพยนตร์ Warriors of the Dawn (2017)

มีกิมมิคที่เป็นเกร็ดของยุคสมัยตลอดเรื่อง

นอกจากปมเรื่องการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์จริง ที่นำมาผูกเป็นปมสายหลักของเรื่องแล้ว จริง ๆ ยังแอบมีอีกหลายเกร็ดหลายมุมในประวัติศาสตร์ที่ซีรีส์แอบใส่มาตลอดทั้งเรื่อง เช่นในยุคพระเจ้าซอนโจและควังแฮกุน มีหมอหลวงคนดังอยู่คนหนึ่งที่มีตัวตนจริงชื่อว่า หมอฮอจุน ผู้มีนามปากกาว่า กูอัม (และมีซีรีส์ชื่อตัวหมอเองเรื่อง ‘คนดีที่โลกรอ หมอโฮจุน / The Legendary Doctor Hur Jun’ ด้วย) หมอฮอจุนเองก็ถูกพูดถึงในเรื่อง เป็นกิมมิคแวบ ๆ แบบแวบเดียวจริง ๆ แต่แสดงให้เห็นเลยว่าซีรีส์เรื่องนี้ เขียนบทอย่างตั้งใจอิงยุคนี้อย่างแท้จริง ต้องลองไปสังเกตให้เจอกันนะคะ

Bossam 017

นอกจากการเป็นม่ายไร้คู่เพราะฝ่ายหนึ่งตายจากไปแล้ว ในอีกทางก็สามารถเป็นม่ายจากการตกลงหย่าร้างได้ แม้ว่ากฎหมายโชซอนจะให้แต่งงานได้ครั้งเดียว แต่ในสมัยนั้นก็สามารถทำเรื่องแยกทางกันได้ในลักษณะที่ฝ่ายชายทำเรื่องหย่าอย่างถูกต้อง และต้องได้รับอนุญาตจากทางการด้วย เพื่อให้ฝ่ายหญิงสามารถแต่งงานใหม่ได้โดยไร้ครหา

แต่ช่างน่าเสียดาย ที่การเขียนจดหมายหย่าร้างแจ้งต่อทางการนั้น มีแต่ชนชั้นสูงที่รู้การเขียนหนังสือเท่านั้นที่สามารถทำได้ วิธีการยุ่งยาก แถมการหย่าร้างก็ผิดหลักจารีตตามยุคนั้น การหย่าร่างจึงไม่นิยมทำกันอย่างเปิดเผยให้ถูกติฉินนินทา ชาวบ้านทั่วไปจึงใช้ ‘การตัดชายเสื้อ’ เป็นสัญลักษณ์การหย่าร้าง และตัดสายผูกเสื้อเป็นสัญลักษณ์แทนการแยกทางโดยรับรู้กันเอง การตัดเสื้อผ้าแบบนี้จึงหมายถึง ‘การตัดความสัมพันธ์ชีวิตคู่’ 

Bossam 018
ภาพจากซีรีส์ Secret Royal Inspector & Joy (2021)
Bossam 019
ภาพจากซีรีส์ Queen For Seven Days (2017)

ฉากตัดเสื้อเพื่อตัดความสัมพันธ์ยังปรากฏในซีรีส์เรื่องอื่นด้วย และฉากตัดเสื้อนั้นมักสื่อความหมายเชิงบวก หรือเป็นฉากที่ตราตรึงใจมาก ๆ ถึงแม้ว่าฉากตัดเสื้อในซีรีส์จะดูโรแมนติก แต่ความจริงถ้าไม่ได้ตกลงกัน คนตัดเสื้อได้ก็มีแต่ผู้ชาย การทำแบบนี้ก็เพราะฝ่ายชายไม่ชอบใจแล้ว หรือเพราะฝ่ายหญิงให้ลูกชายไม่ได้ ในบางครั้งก็เป็นเรื่องเศร้าใจมากกว่า 

นอกจากนี้ในเรื่องยังเอ่ยถึง “ลูกเมียรอง/ลูกเมียไพร่สอบราชการไม่ได้” นั่นเพราะว่าในยุคโชซอน กำหนดสถานะลูกที่ชนชั้นแม่ ต่อให้พ่อเป็นชนชั้นสูง แต่หากแม่ไม่ได้เป็นชนชั้นสูงที่เรียกว่า ยังบัน เหมือนกัน ก็จะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมระดับเดียวกัน 

Bossam 021

ส่วนการสอบราชการในที่นี้ หมายถึงการสอบเป็นขุนนางในวัง เป็นการสอบวัดความรู้และจริยธรรรมที่เรียกว่า มุน-กวา ไม่ใช่การสอบเป็นทหาร มู-กวา หรือส่วนราชการสำนักเฉพาะทางอื่น ๆ อย่างหมอหรือล่ามจะเรียกว่า ชับ-กวา

การสอบมุนกวานี้จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงที่มีคุณสมบัติครบถ้วน แม้พ่อจะเป็นชนชั้นสูง มีตำแหน่งขุนนางใหญ่มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ใช่ลูกภรรยาเอก เป็นเพียงลูกเมียรอง ลูกเมียทาส ลูกของกบฏหรือนักโทษการเมืองในอดีต ล้วนถูกคัดออกทั้งสิ้น ดังนั้นในซีรีส์เรื่องนี้จึงมีบทของการพยายามซื้อขายหนังสือ (ปลอม) แสดงความเป็นภรรยาเอกผู้เป็นคู่สมรสที่ถูกต้อง และการซื้อป้ายชื่อ ซื้อหนังสือเชื้อสายตระกูล เพื่อให้ได้สวมรอยเป็นยังบันที่แท้จริงได้

เหมือนซีรีส์การเมือง แต่จริงเป็นซีรีส์หนุบหนิบใจ สายครอบครัว

เรื่องนี้มีตัวละคร ชาดล ลูกชายของพระเอก เป็นตัวละครกาวใจรวมความน่ารักในเรื่องไว้แต่ผู้เดียว น้องชาดลคุยเก่ง ดึงสติพ่อเก่ง เรียกได้ว่าหากไม่มีชาดลคงไม่เกิดความรักระหว่างพระเอก-นางเอกเป็นแน่ ส่วนบทตัวละครอื่น ๆ ก็เล่นได้สมบทบาท พระรองฉลาดไม่แพ้ใคร พระราชา ขุนนาง คนในวัง ชาวบ้านชาวตลาดก็ล้วนแสดงได้น่าชื่นชม แคสต์มาเป็นอย่างดี

Bossam 023

ส่วนบทโรแมนติกเป็นความรักแบบผู้ใหญ่ที่หนุบหนิบหัวใจเหลือเกิน พระเอกเขาหยอดนางเอกตลอด ชวนกลับบ้าน เปย์ของให้ แอบมองเขา แต่ก็ทำเนียนทำปากแข็งใส่ ก็พระเอกเป็นหนุ่มใหญ่มีลูกชายแล้วเนอะ จะมีรักเร่งด่วนเหมือนพบรักครั้งแรกก็คงไม่ได้ บทโรแมนติกพระ-นางจึงละมุนมาก ไม่มีความจูบ หวีดวาย จิกหมอน เรียบ ๆ แต่กลมกล่อม 

Bossam 025

ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชาและนางเอกก็น่าสนใจ แต่อยากให้ดูเองในซีรีส์โดยตรงมากกว่า โดยเฉพาะบุคลิกของนางเอก ซึ่งเป็นองค์หญิงในวัง มีกรอบของขนบธรรมเนียมควบคุมความคิดและการกระทำ แต่จริง ๆ เป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า ฉลาด กล้าเรียนรู้ ซึ่ง ควอนยูริ สามารถสื่อสารออกมาผ่านเรื่องราวออกมาได้ดีเลย ดูเป็นผู้หญิงโชซอนผู้ยึดมั่นในธรรมเนียม เชื่อฟังพ่อ แต่ก็ยังเด็ดเดี่ยว เห็นถึงความคิดฉบับหัวใหม่ และแสดงออกถึงความเข้มแข็ง เป็นนางเอกที่ดูธรรมดา แต่เมื่อดูจนจบถึงฉากสุดท้ายแล้ว นางเอกงดงามมาก งามสมบทบาทในเรื่องจริง ๆ


บทสรุปรีวิว

ซีรีส์เรื่องนี้ แม้ปมหลักของเรื่องอยู่ที่การเมือง แต่บทการเมืองไม่ได้พลิกแพลงฟาดฟันมันสมองนัก เพราะอิงไปตามหน้าประวัติศาสตร์เลย จึงไม่ใช่ซีรีส์เครียดหนักหัว และแม้จะไม่ได้เน้นโรแมนติกจ๋า ๆ แต่สิ่งที่พระ-นางถ่ายทอดออกมาก็ละมุนอุ่นใจมาก ๆ โดยรวมเห็นถึงความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร แม้แต่ตัวละครเล็ก ๆ ก็แบ่งบทบาทให้ความสำคัญได้ลงตัวทุกตัว ไม่หลงลืมตัวละครไหนไป บทพูดระหว่างตัวละครก็สวยงาม

Bossam 027

เนื้อเรื่องแต่ละตอนดูเหมือนจะเฉื่อย แต่เนื้อหาที่เสิร์ฟเข้ามาใหม่แต่ละตอนนั้นกลับรู้สึกว้าวอย่างคาดไม่ถึง มีการปูเรื่องเข้าไปสู่แต่ละตัวละครน่าสนใจมาก ด้วยบทอาจจะไม่ได้ใส่รูปแบบความคิดสมัยใหม่ลงไปโดยสมบูรณ์ อย่างเรื่องค่านิยมยุคปัจจุบัน ทำให้การตัดสินใจของตัวละครบางตัว คนดูอาจจะ เอ๊ะ? อ๊ะ? ทำไมตัวละครทำแบบนั้นนะ? หรือมีบางส่วนที่ค่อนข้างดูเป็นอุดมคติไปบ้าง แต่ถ้ามองด้วยมุมคิดของคนโบราณที่ยึดจริยธรรมยึดจารีตมันก็พอเป็นไปได้ (ในละคร) นะ

สรุปแล้วก็คือเป็นซีรีส์ช่องเล็กที่โปรดักชันใหญ่ ภาพสวย บรรยากาศสวย ดูสมจริงไปหมด นักแสดงสมบทบาท แม้จะดึงนำเอาแง่มุมประวัติศาสตร์มาเป็นหลักหลายส่วน แต่ละครก็ยังเป็นละคร ไม่ได้กลายเป็นสารคดี อยากให้ทุกคนได้ดู เหมือนได้ค้นหาไข่อีสเตอร์ แต่ถึงจะไม่ได้ค้นพบความรู้จำเป็นอะไร แต่ก็จะได้อรรถรสความบันเทิง ไม่มีความขาดเกินในแง่เป็นซากึก มีเรื่องในรั้ววังให้ซุบซิบ แต่ก็มีความชาวบ้านให้เข้าถึง เป็นม้ามือในกลุ่มซีรีส์ย้อนยุคเกาหลีในช่วงปีเดียวกันเลย มี 20 ตอนดูเพลิน ๆ ให้ใจนุ่มนวล ~ 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องย่อซีรีส์ : Bossam: Steal The Fate (2021)

ซีรีส์ Bossam: Steal the Fate สร้างสถิติใหม่! ทำเรตติ้งนำเป็นอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ช่อง MBN

Bossam: Steal The Fate ทำลายสถิติตัวเอง! ส่งท้ายตอนจบด้วยเรตติ้งอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ช่อง MBN

สรุปไทม์ไลน์ราชวงศ์โชซอน ผ่านซีรีส์เกาหลีย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ที่แนะนำให้ไปดู (Part 1/2)

ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage
 : facebook.com/korseries
Twitter
 : twitter.com/korseries
Website
 : korseries.com
Youtube 
: Korseries

ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡






Korupdate






เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อการตลาด

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก